วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

ตลาดนัดของเก่า (Flea Market)


 Credit: http://www.design2share.com/design2share-qa/2012/8/22/tips-for-haggling-and-navigating-local-flea-markets.html


ตลาดนัดเป็นแหล่งสำคัญของการค้นหาของเก่า  บางทีเคยคิดว่า การเดินหาของเก่า ก็ให้ความรู้สึกเหมือนนักค้นหาหรือคนที่มีอาชีพหาของเก่าจากใต้สมุทร ที่ต้องดำลงไปในทะเลลึกในจุดที่มีเรือโบราณจมอยู่นับร้อยปี แต่แบบนั้นอาจยากกว่าตรงที่ต้องมีการศึกษาประวัติศาสตร์การเดินเรือในอดีต เพื่อรู้เส้นทางเรือโดยสารหรือเรือสินค้าในมหาสมุทร แต่คงใช้ความพยามยามและเงินลงทุนต่างกันมาก (อย่าซีเรียส เรายกมาเฉพาะความรู้สึกของเค้ากับของเราในช่วงของการค้นหาค่ะ) เราไม่มีทางคาดเดาได้ว่าจะได้พบกับอะไร  แต่ทุกคนจะมีความรู้สึกเหมือนกันคือความตื่นเต้นและเร้าใจในระหว่างการค้นหา และหากเราได้เจอสิ่งที่ถูกใจอย่างไม่คาดฝันมันจะเป็นความสุข ความเปรมปรีด์และสมหวัง  มันเหมือนเปิดกล่องของขวัญแล้วได้ของถูกใจอย่างที่สุด เป็นเซอร์ไพรส์ที่ทำให้เราอิ่มเอม และพบโดยบังเอิญว่าของชิ้นนั้น เป็นสิ่งที่เราอยากได้มาแสนนาน นี่คือการถ่ายทอดความรู้สึกของอีชั้นเอง ซึ่งอาจจะออกแนวหนังแฟนตาซีอลิซอินวันเดอร์แลนด์เกินไปซักหน่อย แต่คิดว่าหลายคนคงมีความรู้สึกใกล้เคียงกันบ้าง ไม่มากก็น้อย

ตลาดนัดของเก่า ที่อีชั้นรู้จัก ไปบ่อย เดินบ่อย ก็สนามหลวง 2  อันนี้พ่อค้าจะเห็นหน้าอีชั้นแทบทุกวันเสาร์ เพราะนอกจากของเก่าที่สนใจแล้ว ยังมีต้นไม้ที่เป็นเรื่องสนใจอีกเรื่องนึงของอีชั้น อาหารก็มี  ไปที่นี่เลยได้ครบรส จึงไปบ่อยค่ะ ที่นี่ขายวันเสาร์ อาทิตย์ ร้านเริ่มเปิดกันสิบโมงไปจนถึงบ่าย ๆ เย็น ๆ  ตลาดที่ไปบ่อยรองลงมาก็วัดสวนแก้วในโซนร้านขายของเก่า ร้านมีเยอะค่ะ แต่มีแค่ 2-3 ร้านที่เคยซื้อ มีของที่ถูกใจราคาไม่แพง ฐานะอย่างเราสามารถซื้อได้ แต่เวลาไปก็เดินตรวจทั่วตลาดแหละค่ะ ดูโน่นดูนี่ไปเรื่อย ที่นี่น่าจะเปิดทุกวันมั้งคะ แต่คนจะเยอะเฉพาะเสาร์อาทิตย์  แต่ตลาดที่ชอบมากกกกก  มีของหลากหลาย ของเก่า ๆ ลึก ๆ มีดีไซน์ ก็ต้อง ตลาดนัดรถไฟค่ะ  แต่ที่นี่ คนซื้อต้องใจถึงค่ะ ราคาค่อนข้างสูง (ความคิดเห็นส่วนตัว) อาจเป็นเพราะกว่าจะมาถึงตลาดนี้ต้องผ่านการคัดสรรจากพ่อค้ามาหลายทอดแล้ว ออกแนวของเก่า Vintage High So สำหรับคนมีเงินที่ชอบของเก่า ที่เรียกว่า รุ่นใหญ่

ดังนั้นการมาที่นี่ของอีชั้น อาจเป็นแค่การมาเดินสำรวจหรือเที่ยวเล่นดูของเจ๋ง ๆ ซะมากกว่า การที่คิดว่าจะได้ครอบครองอาจเป็นเรื่องรอง ๆ เนื่องจากใจไม่ถึงพอ  แต่ขอแนะนำค่ะ  ตลาดนี้เป็นตลาดที่เดินสนุก มีของน่าสนใจ ใช้คำว่าอะไรดี มันเจ๋งอะค่ะ บางอย่างไม่คิดว่าจะได้เห็น ที่นี่ก็มีขาย ความจริงจะว่าไป ตลาดมันกว้างค่ะ ไอ้ที่บอกราคาแพงก็จะเป็นร้านใหญ่ ๆ อยู่ในอาคาร ซึ่งของเค้าก็สมควรแพงอยู่ เพราะหายากเป็นชิ้นใหญ่และไม่ธรรมดา ส่วนในโซนตลาดนัดก็มีราคาตั้งแต่หลักสิบหลักร้อยเป็นต้นไป ต้องไปโดนซักครั้งค่ะ อ้อ ! ลืมบอกไป ตลาดนี้ขายเฉพาะตอนเย็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

แต่ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของคนเก็บของเก่าอย่างอีชั้น คืออยากไปเดินตลาดขายของเก่าในต่างประเทศ ซึ่งได้ยินมาว่าเป็นสวรรค์ของนักเก็บของเก่า เค้าเรียก “Flea Market” ฟังจากที่เค้าเล่ามา มันช่างเหมือนกับตลาดมหาสมบัติที่เต็มไปด้วยของเก่านานาชนิด ราคาแสนถูก มีให้เลือกหลากหลาย สภาพดี เค้าบอกว่าฝรั่งใช้ของแบบรักษา ดังนั้นของเก่าที่นำมาขายยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ฟังดูแล้วไปวันเสาร์นี้เลยดีมั้ย !?!

รูปด้านบนเป็น Flea Market ในต่างประเทศ เท่าที่ดูก็คล้ายบ้านเรา แต่ของเค้าน่าจะอากาศเย็นเดินสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว  และเท่าที่ search ใน google พบว่า Flea Market น่าจะมีอยู่ทุกประเทศในโลก จึงไม่น่าแปลกที่อีชั้นจะชอบและหลงใหลของเก่า style vintage เพราะทุกประเทศก็มีคนที่ชอบแบบนี้เช่นกัน จึงไม่น่าใช่อาการที่ต้องไปพบแพทย์แต่อย่างใด

ตลาดนัดของเก่าอีกหลายแห่งแฝงตัวอยู่บนเวปไซต์ค่ะ  เปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง  ความจริงหลายร้านในเวปก็มาจากตลาดนัดของเก่าที่เราไปเดิน ๆ นี่แหละค่ะ  พ่อค้าหลายคนก็เคยซื้อของกันอยู่บ้าง รู้จักว่าร้านอยู่ที่ไหน  การมี Internet มันก็ดีอย่างนี้เอง เป็นโลกไร้พรมแดนจริง ๆ นี่ละมั้งที่เค้าพูดถึงการไปถึงที่หมายโดยไม่ต้องเดินทาง อาจไม่ได้หมายถึงการใช้ประตูกาลเวลาของโดราเอมอนเพื่อไปถึงที่หมายในเวลาอันรวดเร็ว แต่หมายถึงว่าเราสามารถเลือกและตัดสินใจได้โดยไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทาง    Internet ทำให้เกิดการค้าเสรี ไร้ขอบเขตและไร้เวลาจริง ๆ ค่ะ เปิดโอกาสให้ผู้ขายในการนำเสนอและเข้าถึงลูกค้าได้สูงกว่าการนั่งขายอยู่หน้าร้านจริงเป็นอย่างมาก  บางร้านอยู่ไกลถึงเชียงรายอีชั้นก็เคยไปชอปและซื้อของมาแล้วโดยไม่ต้องเดินทาง พูดแล้วอยากเปิดร้านบน Internet บ้างจัง ไม่ต้องจ้างพม่ามาเฝ้าหน้าร้าน เปิดตลอด 24 ชั่วโมง (แข่งกับเซเว่น) ไม่เสี่ยงโดนปล้น ไม่มีค่าเช่า อืมมมม ไปหาอะไรมาขายมั่งดีกว่า...

ข้างล่างนี้เป็นรูปจากตลาดรถไฟค่ะ ขอบคุณเวปไซต์ตามที่เครดิตไว้ค่ะ





คนขาย



อีชั้นไม่ค่อยได้สัมผัสกับคนขายที่อยู่ในร้านขายของโบราณประเภท Antique ซักเท่าไหร่  ตลาดนัดนี่แหละสนุก คนขายก็จะออกแนวสบาย ๆ ถามบ้างคุยบ้าง ขอความรู้บ้าง ไม่เซ้าซี้ พี่อยากดูอยากจับอยากหยิบมาพินิจพิจารณา อยากถามราคา ถามแล้ววาง ไม่ซื้อ อะไรก็ได้ เหมือนเราเป็นเจ้าของตั้งแต่ยังไม่ซื้อ ถ้าพอใจก็ต่อราคา จ่ายตัง เจอกันเห็นหน้าบ่อยก็ทักทายกัน แรก ๆ ก็เขิน ๆ เพราะไม่มีข้อมูลเลยไม่รู้จะถามอะไร ส่วนมากก็จะถามราคา แหล่งที่มา เช่นโขมยมาหรือเปล่าคะ เค้าก็จะบอกว่า อ๋อ เพิ่งยกเค้ามาตอนตีห้านี่เองครับพี่  ....ล้อเล่น คือถ้าประมาณวิทยุหรือพัดลมก็จะถามยี่ห้อ กับประเทศผลิต (กรณียี่ห้อนี้ไม่คุ้นหูในบ้านเรา) มีแตกหักอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่คนขายก็จะซื่อ ๆ นะคะ บอกว่าแตกตรงนั้น ร้าวตรงนี้ ความจริงถ้ามัน “ร้าว” นี่ เห็นง่ายกว่า “หัก” อีกนะคะ คือถ้าของชิ้นนั้นเราไม่ได้รู้จักหน้าค่าตามันมาก่อน เราอาจไม่รู้ว่ามันมีชิ้นส่วนไหนขาดหายไปหรือเปล่า ถ้าเค้าสามารถตกแต่งจนเนียนเราก็ไม่รู้หรอกค่ะ เพราะเราไม่ใช่เซียน แต่ถ้า “ร้าว”มันจะปรากฏหลักฐานให้เห็นกันชัดเจน

เคยถูกหลอกมั้ยเหรอ

เท่าที่ทบทวนดู ไม่เคยนะคะ
เพราะการซื้อแต่ละครั้ง ใช้ความชอบในของชิ้นนั้น ๆ เป็นหลัก ไม่ได้ซื้อเพราะมันเป็นของเก่าที่เค้านิยมเก็บกัน
ถ้าความชอบของเราไม่บังเอิญไปตรงกับ “ของเก่ารุ่นยอดนิยม” เราก็ซื้อได้ในราคาไม่แพงมากมายอะไร และคงไม่มีความจำเป็นที่เค้าจะทำเทียมเลียนแบบขึ้นมาขาย เพราะการที่มีคนชอบไม่มาก มันก็ไม่คุ้มกับการทำขึ้นใหม่อยู่แล้ว และบางครั้งถ้าเกิดความชอบของเราไปตรงกับ “ของเก่ารุ่นยอดนิยม” ขึ้นมา ราคาก็จะเป็นตัวหันเหความสนใจของเราไปทางอื่นอยู่ดี เพราะสู้ราคาไม่ไหว ก็หลีกทางให้ผู้มีฐานะเป็นผู้ครอบครองดีกว่าค่ะ ขอบาย

อีกอย่างคือใจเย็นค่ะ ศึกษาข้อมูลก่อน คือถ้าของถูกใจชิ้นนั้นเพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรก ก็จะดู ๆ จนพอจะรู้ราคา บางทีมันก็ทำให้เสียโอกาสในการได้ของถูกใจอยู่เหมือนกัน แต่ทำไงได้ ถ้าผลีผลามอาจเสียใจมากกว่า ความจริงเรื่องซื้อราคาเท่าไหร่มันก็อยู่ที่นิสัยของคนด้วยค่ะ บางคนเป็นคนที่ ถ้าชอบแล้ว เท่าไหร่ก็ซื้อ เค้าจะไม่คิดมากเรื่องราคา และเมื่อมาเจอของอย่างเดียวกันที่ถูกว่าเค้าก็ไม่คิดอะไร ชิลค่ะ คาดว่าพ่อแม่จะมีตัง ฐานะดี ไม่ซีเรียสเรื่องค่าใช้จ่าย แต่อีชั้นตรงกันข้ามค่ะ เวลาไปเจอของที่เหมือนกับที่เคยซื้อมาแล้ววางขายอยู่ที่ไหนเป็นต้องรี่เข้าไปถามว่า “เท่าไหร่คะ” คำตอบที่ได้บางทีก็ทำให้ลิงโลดดีใจ บางทีก็ทำให้เหี่ยวไปเหมือนกัน
  แต่เป็นคนที่กำหนดขอบเขตของราคาซื้อเอาไว้อยู่แล้ว  การเจ็บตัวในของที่ซื้อจึงไม่มาก คือซื้อเยอะชิ้น แต่แต่ละชิ้นราคาไม่สูง ไม่ได้ซื้อราคาเป็นหมื่นเหมือนคนอื่น ๆ  ซื้อแค่ไม่เกินหลักพัน เวลาที่เจ็บตัวก็เจ็บน้อยหน่อยค่ะ  เท่าที่เจอแพงกว่าก็ไม่เกินสองสามร้อย (ต่อชิ้น) แต่โชคดี...ส่วนใหญ่ได้ราคาถูกกว่าหรือไม่ต่างกันค่ะ

เวลาที่ถามราคา แล้วในใจบอกมาว่า “อยากได้” ถ้าราคาที่บอกมามันห่างไกลกับขอบเขตราคาที่กำหนดไว้มาก
  มันก็ง่ายค่ะ ยิ้ม ขอบคุณแล้วเดินจากไป (ขอบเขตราคานี่อีชั้นกำหนดให้กับตัวเอง เพื่อไม่ให้ใช้จ่ายในเรื่องนี้มากเกินไปค่ะ)   แต่ถ้าราคามันเกินไปก็จริง แต่อยากได้เหลือเกิน อันนี้ หนักใจ  ในใจมันจะต่อสู้กันเองระหว่าง “ความอยาก” กับ “สัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง” ซึ่งกรณีนี้ ส่วนใหญ่ “ความอยาก” เป็นฝ่ายชนะค่ะ เพราะเราจะหาร้อยล้านเหตุผลมาอธิบายกับตัวเองว่า มันคุ้มค่าเพียงใดถ้าเราจ่ายเงินก้อนนี้ไป แล้วได้ของสิ่งนั้นมาเป็นของเรา....เฮ้อ..สามีระอา....

แรก ๆ ที่ไปเดินตลาดนัดของเก่า สังเกตุดูว่าคนขายไม่ค่อย
Focus ที่เรามากนัก แต่เค้าก็ยิ้มแย้มทักทาย ถามตอบมีอัธยาศัยนะคะ  อาจเป็นเพราะดูแล้วไม่น่าจะเป็นกลุ่มลูกค้า Prospect เพราะสถิติของลูกค้าร้านขายของเก่าส่วนใหญ่เป็นผู้ชายค่ะ ที่ไปเดิน ๆ ตลาดมานี่ น้อยมากที่ผู้หญิงจะเดินเข้าไปถามราคาของเก่าที่วางขาย  คือตลาดนัดของเก่ามันไม่ได้มีของสะสมอย่างเดียวนะคะ  มันก็มีของมือสองหลากหลาย เสื้อผ้ารองเท้ากระเป๋า ของกินของใช้ หนังสือ มีทุกอย่างเหมือนร้านขายของทั่วไปแหละค่ะ แต่มันเป็นของมือสอง ผู้หญิงที่มาตลาดนี้ก็จะเหมือนกันกับที่ไปตลาดอื่น ๆ คือ สนใจแต่ร้านขายของแต่งตัว  มีอีชั้นนี่แหละค่ะดูแต่ของสะสม ซึ่งตอนนี้เวลาไปเดินสนามหลวง 2 พ่อค้าหลายร้านพอเห็นหน้าก็รู้ว่าชอบมาดูค่ะ ถ้าถูกใจของ ถูกใจราคา ก็พูดคุยต่อรองจ่ายเงินจ่ายทองกันไป เอาของกลับบ้าน แต่หลายครั้งที่ไปก็ไม่ได้ของกลับมาค่ะ

เคยเจอคนขายที่น่าเห็นใจด้วยค่ะ ตอนนั้นไปถามวิทยุเก่าแป็นแมคกาไลท์ ราคาไม่ถึงพัน สภาพโชว์อย่างเดียว ใช้งานไม่ได้
 ตามประสาคนซื้อก็ต้องต่อราคากันตามธรรมเนียม (ต่อราคาลงไปร้อยเดียว) คนผู้ชายบอกว่าถูกแล้วลดไม่ได้แล้วครับ  ตอนนั้นเป็นช่วงแรก ๆ ที่เริ่มซื้อของเก่า เราก็ยังไม่ทันว่าอะไร คิด ๆ พิจารณาอยู่ เอ่อ ข้างหลังมันบวม ๆ สภาพมันเอาไปตั้งโชว์จะเข้าท่ามั้ย มันเดิม หรือโมมา มีแตกมีร้าวตรงไหนบ้าง (คิดในใจ) ก็ได้ยินเสียงผู้หญิงแหวกอากาศขึ้นมาว่า ขายไปเถอะจะเอาไว้ทำมัย  ก็เลยเหลือบไปมองหน้าผู้ชาย สงสารจังค่ะ  มันคงไม่ได้เป็นเรื่องของราคาที่เค้าจะได้รับเพื่อแลกกับของที่เค้ารัก  แต่คงเป็นความรู้สึกเสียดายที่ต้องเสียมันไปมากกว่า เดาว่าของที่เอามาขายคงเป็นของรักของเก็บของคนผู้ชาย  แต่คนผู้หญิงเห็นว่าความจำเป็นและค่าใช้จ่ายในครอบครัวสำคัญกว่า น่าจะเอามาแปลงเป็นเงินเพื่อเป็นค่าครองชีพ 


ทุกวันนี้ พอเห็นวิทยุเครื่องนี้ทีไร ก็ให้นึกถึงความสุขความเศร้าของคนคนนึงที่ต้องเสียของรักไป เศร้าจัง....

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

ประสบการณ์การซื้อของเก่า


เคยอ่านเจอในเวปมีคนถามว่า การซื้อของเก่าใช้อะไรเป็นตัววัดว่าถูกหรือแพง ......

อืมมมม
  อันนี้ก็เจอกับตัวเองเหมือนกัน  ถ้าจะตอบ (แต่ไม่ได้ตอบ เพราะตอนนั้นประสบการณ์การซื้อของเก่ายังไม่มากพอ)  จริง ๆ จะบอกว่าไม่มีอะไรเป็นบรรทัดฐาน เพราะของพวกนี้ไม่มีราคากลางที่ชัดเจน อย่างที่รู้ ของเก่าแต่ละชิ้น ถึงแม้จะเป็นของรุ่นเดียวยุคเดียวกันก็จริง  แต่ "สภาพ" ของมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แทบจะบอกได้เลยว่าไม่มีชิ้นไหนที่มีสภาพที่ "เหมือนกัน" อย่างมากที่สุดก็แค่ "ใกล้เคียง" ดังนั้น การกำหนดราคาจึงใช้การเทียบเคียง โดยดูจากของชิ้นเดียวกันที่เค้าขาย ๆ กันอยู่ และเปรียบเทียบกับสภาพของของชิ้นนั้น

ที่นี้จะรู้ได้อย่างไรว่าเค้าขายกันเท่าไหร่
 จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ค่ะ คือเดินบ่อย เห็นบ่อย ถาม(ราคา)บ่อย  ข้อมูลเหล่านี้ก็จะอยู่ในสมอง เมื่อไปเจอของที่ต้องการ ระบบสมองส่วนกลางของเราก็จะทำการประมวลผลอย่างรวดเร็ว รวมกับความ "อยากได้" ซึ่งเกิดจากการรับภาพของจอประสาทตาส่งต่อการรับรู้เข้าสู่สมอง ผลลัพธ์ที่ได้คือ "ใจ" จะสั่งเราเองว่า ของสิ่งนั้น "ถูก" หรือ "แพง" ถ้าแพงก็สังเกตุได้ง่าย ๆ ว่าเราจะยิ้มแล้วเดินจากไป อาจมีลังเลอาลัยอาวรณ์ เหลียวหลังกลับไปดูบ้างแล้วแต่ลีลาของแต่ละคน  แต่ถ้าใจสั่งมาว่า "ถูก"  หรือ "อืมม ไม่แพงนะเนี่ย"  "หาอีกไม่ได้แล้ว" "ถ้าไม่ซื้อ อาจจะหาไม่ได้อีกเลย" "เคยเห็นที่อื่นแพงกว่านี้อีก" เหตุผลประมาณนี้ ก็จะทำให้เราลุ่มหลงมัวเมา หยิบเงินจากกระเป๋าส่งให้คนขายด้วยความยินดี  อิ่มเอม กลับบ้านได้ซะที หลังจากเดินหลังขดหลังแข็งมาครึ่งค่อนวัน ชักเริ่มปวดหลัง ปวดน่อง เดินต่อไม่ไหวซะหยั่งงั้น กลับบ้าน จะได้ไปชื่นชมกับของชิ้นใหม่ (ที่เป็นของเก่าของคนอื่น)

กลับมาก็มานั่งพินิจพิจารณาว่ามันแตกมันหักตรงไหน ชิ้นส่วนไหนหลุดหายไป ซึ่งบางทีก็ไม่รู้หรอก ถ้าไม่มีของชิ้นที่สมบูรณ์มาเทียบเคียง แล้วก็นั่งขัดนั่งถูทำความสะอาดไป ใช้น้ำ ใช้บัดโซ ใช้ัสเตคลีน แล้วแต่ความถนัด จากนั้นก็ต้องหาที่ตั้งที่เหมาะสม บางทีก็ไปวางตรงที่ใครเดินผ่านไปผ่านมาก็ต้องเห็น เผลอ ๆ ก็อาจหยิบเอาของชิ้นเก่าที่เคยวางไว้ออกไปวางซะทีอื่น เพื่อให้ของชิ้นนี้มีที่วางที่เหมาะสมกับฐานะ ไม่ค่อยจะเห่อซักเท่าไหร่เลย...

ดังนั้นเห็นของชิ้นไหนถูกใจครั้งแรกอาจเป็นข้อห้ามว่าอย่าซื้อทันที เพราะอาจโดนราคามหาโหดก็ได้
  คำแนะนำคือต้องสืบถามข้อมูลให้ชัดแจ้งก่อน ยกเว้นไอ้เจ้าราคาที่ว่ามันเป็นราคาที่คุณยอมรับได้จริง ๆ คือมีความรู้สึกว่ามันจิ๊บ จิ๊บ เช่น 100-200 หรือราคาเท่าไหร่ก็ได้ที่คุณคิดว่าจะไม่เสียดายเมื่อมาเห็นคนอื่นขายในราคาที่ถูกกว่า  แต่ข้อเสียของการที่คุณจะรอจนแน่ใจว่าราคาของชิ้นนั้นมันควรจะเป็นเท่าไหร่ก็คือคุณอาจได้เห็นของชิ้นนั้นเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตก็ได้  เพราะการได้พบของเก่าชิ้นที่ถูกใจไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณทุกวัน และ..ของชิ้นนั้นมันไม่ได้รอจนกว่าคุณจะแน่ใจและตัดสินใจซื้อ เมื่อคุณกลับมาอีกครั้งมันอาจไปอยู่ในความดูแลของคนอื่นแล้วก็ได้  ดังนั้น  บางครั้งเมื่อเราได้ไปเจอของเก่าที่ถูกใจ ก็อาจเป็นวาระที่ต้องวัดใจกันเลยว่า...จะซื้อหรือจะเดินจากไปด้วยท่าทางอาลัยอาวรณ์เหมือนอย่างที่บอกไว้ข้างต้น

วิธีแก้ไขกรณีที่คุณเจอสถานการณ์ "เสียดาย" เมื่อตัดสินใจเดินจากมาแล้วมาพบตัวเองว่า อยากได้มันมากกว่าขณะที่คุณยืนอยู่ต่อหน้ามันคือ "ทำใจ" ค่ะ
  และใช้วลีเด็ดมาปลอบประโลมตัวเองว่า "ถ้ามันเป็นของเรา วันนึงมันก็ต้องของเรา"  ซึ่งไม่จริงหรอกค่ะ เพราะเราเป็นคนตัดสินใจที่จะเดินจากมันมา และตอนนี้มันได้กลายเป็นของคนอื่นไปแล้วเพราะการตัดสินใจของเราเอง ดังนั้น "Forget it" ยังมีของเก่าอีกตั้งมากมายรอเราเป็นเจ้าของ "สมบัติผลัดกันชม" ค่ะ  

ที่เล่ามาอย่าคิดว่าเป็นคำบอกของเซียนซื้อของเก่าอะไรนะคะ เพียงแต่บอกเล่าวิธีการของการซื้อของเก่าของตัวเองให้ฟังขำ ๆ เท่านั้นเอง


วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

ครั้งแรก ๆ กับของเก่า (Antique Pieces)

ตอนแรกเริ่มที่จะซื้อของเก่า มีอาการกล้า ๆ กลัว ๆ อยู่นานนนนน  ได้แต่ดู ๆ แต่ไม่กล้าซื้อ  กลัวค่ะ เคยอ่านเจอว่าของเก่าบางอย่างมี "เจ้าของ"

ชิ้นแรกที่ซื้อ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นพัดลม
Mistral ราคาไม่แพง สภาพโอเค หน้าตาน่ารัก และลองคิดพิจารณาจากข้อมูลในอดีตแล้ว ไม่พบว่าใครเคยเจอ "ผีพัดลม" ก็เลยทำให้กล้าซื้อกลับมา

จากนั้นก็มีซื้อชิ้นเล็กชิ้นน้อยประปราย ต่อมาชิ้นที่ยากสุดคือ "ตู้"
  คิดนานจริง ๆ ผ่านไปหลายชิ้น (ที่ดู ๆ เอาไว้) ไม่กล้าซื้อซักที เพราะมีหนังเรื่อง "ตู้ซ่อนผี" ด้วยหรือเปล่าไม่รู้  แต่....ในที่สุดก็กล้าซื้อตู้ใบแรก ซึ่งจากประสบการณ์ตรงไม่พบว่ามี "เจ้าของ" ติดมาด้วย  จึงกล้าซื้อใบต่อมาอีก 2-3 ใบ ตอนที่เอาตู้ใบแรกเข้าบ้าน ก็ต้องมีพิธีกรรมกันซักเล็กน้อยเพื่อความสบายใจ ก่อนยกเข้าบ้านจึงต้องมีการบอกกล่าวกันให้เข้าใจทั้งสองฝ่ายว่า "เอาแต่ของ เจ้าของไม่ต้องมา"

ของบางอย่างซื้อมาแล้ว ต้องเอาไปซ่อนไว้ในห้องเก็บของก่อน อันนี้ไม่ได้เป็นเคล็ดหรือพิธีกรรมทางศาสนาอะไร เป็นเพราะบางช่วงซื้อของเก่าติด ๆ กันหลายชิ้น เกรงใจคนที่บ้าน
  รอจังหวะดี ๆ (คือเวลาที่เค้าเผลอนั่นแหละ) ค่อยเอามาวางตามมุมต่าง ๆ บางทีเค้าเดินผ่านไปแล้ว ก็หยุดหันมาถามว่า "อันนี้ไม่เคยเห็น" เราก็เนียน ๆ ไป   บอกว่าซื้อตั้งนานแล้วไง  นานเข้ามุกนี้ชักไม่เวิร์ค เพราะของใหม่เข้ามาทุกอาทิตย์ จะบอกว่าเก่าซื้อตั้งนานแล้ว ก็ดูหน้าไม่อายไปหน่อย  บางทีก็เลยสารภาพไปตามตรง  จนเดี๋ยวนี้เค้าคงชินแล้ว

ครั้งหลังสุดมีพัสดุส่งมาที่บ้าน
  กลับจากที่ทำงานมาถึงบ้านพร้อมกัน แต่แฟนจอดรถอยู่เราเข้าบ้านมาก่อน เห็นกล่องพัสดุวางเด่นเป็นสง่าอยู่บนโต๊ะ  ก็เลยยกไปซ่อนไว้ข้างโซฟาเอาผ้ากับหมอนทับไว้อีกที  จนกินข้าวเสร็จ เรารู้ว่าแฟนต้องขึ้นไปอาบน้ำก่อนแล้วจะลงมาดูโทรทัศน์  พอเค้าขึ้นไปได้ยินเสียงปิดประตูดังปึงก็คิดว่าเค้าเข้าห้องไปแล้ว  เลยไปหยิบพัสุดมาเปิดพร้อมบ่นกับเด็กที่บ้านว่า ต้องเอาไปแอบกลัวพี่เค้ารู้ พร้อมกับเปิดกล่องด้วยความแช่มชื่น  ได้ยินแฟนตะโกนลงมาว่า "ซื้ออะไรอีก ได้ยินนะ" พร้อมกับเดินตามเสียงลงมาดูว่าซื้ออะไร ตายละหว่า คิดว่าเข้าห้องไปแล้ว ที่ไหนได้เค้าปิดประตูแต่ตัวยังอยู่ข้างนอก ความเลยแตก.....  แต่ไม่เข็ดหรอกค่ะ  อีกสองวันก็มีพัสดุส่ง "นาฬิกาปลุกโบราณ" มาที่บ้าน  แฟนเห็นยังเอา Cutter มาให้ และบอกว่า "กลัวเปิดไม่ถนัด" ....ประชดเล็กน้อย

ใหม่ ๆ เวลาไปเดินดูของเก่าตามตลาดนัด บางทีถามชิ้นโน้นชิ้นนี้ บางชิ้นที่ถามในใจเรารู้อยู่แล้วว่าคงไม่กล้าซื้อ เพราะราคาแพง ไม่ได้หมายถึงเค้าขายแพงนะ แต่ของมันราคาสูงอยู่แล้ว เราไม่ใช่นักเล่นของเก่า เป็นแค่คนที่ชอบแต่งบ้านแนว
vintage ของแบบนั้นไม่ใช่แนวเราอยู่แล้ว เพียงแต่อยากรู้ว่าเค้าขายกันยังงัย พอถามแล้วยิ้ม ไม่ต่อราคา ไม่ซื้อ เค้าก็ออกตัวว่าของพวกนี้เป็นของเก่า หายาก ราคาเลยสูง 

แรงบันดาลใจในการตกแต่งบ้านใน style vintage (Vintage Style Inspiration)

แรงบันดาลใจในการตกแต่งบ้านใน style vintage น่าจะเริ่มมาจากกระเป๋าเดินทางใบสีฟ้าของพ่อนั่นแหละ กลิ่นอดีตที่ฟุ้งขึ้นมาในวันเวลาที่เรากำลังหวลหาความทรงจำเก่า ๆ เกี่ยวกับพ่อทำให้รู้สึกประทับใจ บวกกับการเข้าไปท่อง website ต่างประเทศเพื่อค้นหาแนวการตกแต่งบ้านที่อยากรู้ว่าตัวเองชอบแบบไหนในช่วงของการตกแต่งบ้านที่หัวหิน ทำให้เราเริ่มมองเห็นตัวตนและความชอบของตัวเอง (ลองคลิกเข้าไปดู link website ที่อยู่ด้านขวาของ blog)  การตกแต่งบ้าน style country vintage ที่แสนจะน่ารัก การนำของเก่าไม่ว่าจะเป็น ป้ายไม้เขียนข้อความ เหยือกน้ำโบราณเคลือบอีนาเมล ตู้ไม้ทาสีขาว ของใช้ในอดีต เช่นพัดลมโบราณ วิทยุ transistor นาฬิกาปลุก  ล้วนแต่เป็นของน่ารัก ถูกตาต้องใจคนชอบ vintage เป็นยิ่งนัก แต่บางทีก็ต้องเอามาปรับให้เข้ากับ(คนที่)บ้าน เพราะอะไรที่มัน "มาก" จนเกิน คนที่อยู่ด้วยอาจรับไม่ได้ ดังนั้น "ความเป็นกลาง" และ "พอเหมาะ"  จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ตอนนี้ที่บ้านกรุงเทพ ก็มี
vintage style คืบคลานเข้ามามากพอควร  แนว "บาหลี" และ "เชียงใหม่ style" ที่เคยตกแต่งบ้านเมื่อสิบปีก่อน ก็เริ่มคลีคลาย (โดยการแจกจ่ายให้คนรอบข้าง)

ตู้ไม้เก่าทาสีขาว เริ่มเข้ามาแทนที่ตู้ไม้สักสีขรึม ของตกแต่งก็เป็นของเก่าที่เราชื่นชอบ
  ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ลายดอกไม้น่ารัก น่ารัก สีพาสเทลมาแทนผ้าฝ้ายพื้นเมืองโทนสีเข้มจัดจ้าน  ดูอย่าง SB Furniture ยังออก Vintage Passsion มาล่อใจคนชอบ vintage แต่ความชอบของอิชั้นเกิดขึ้นก่อน Vintage Passion นะคะ  เมื่อเค้าออก style นี้มา ทำให้อิชั้นถูกใจมาก  แต่ก็เลือกซื้อชิ้นที่ชอบและราคาพอประมาณ แค่ได้เดินดูก็สุขใจแล้ว

กำลังมี
plan จะทาสีภายในใหม่  อาจใช้ wall paper ลายดอกไม้ในบางจุด  แต่โครงการนี้ คงต้องใช้เวลานานหน่อย เพราะทำแล้วมันเปลี่ยนย้ายที่ไม่ได้ ไม่เหมือนของตกแต่งชิ้นเล็กที่ถ้าเราไม่ชอบก็จับเปลี่ยนไปวางตรงอื่นได้ตามใจ