อีชั้นไม่ค่อยได้สัมผัสกับคนขายที่อยู่ในร้านขายของโบราณประเภท Antique ซักเท่าไหร่ ตลาดนัดนี่แหละสนุก คนขายก็จะออกแนวสบาย ๆ ถามบ้างคุยบ้าง ขอความรู้บ้าง ไม่เซ้าซี้ พี่อยากดูอยากจับอยากหยิบมาพินิจพิจารณา อยากถามราคา ถามแล้ววาง ไม่ซื้อ อะไรก็ได้ เหมือนเราเป็นเจ้าของตั้งแต่ยังไม่ซื้อ ถ้าพอใจก็ต่อราคา จ่ายตัง เจอกันเห็นหน้าบ่อยก็ทักทายกัน แรก ๆ ก็เขิน ๆ เพราะไม่มีข้อมูลเลยไม่รู้จะถามอะไร ส่วนมากก็จะถามราคา แหล่งที่มา เช่นโขมยมาหรือเปล่าคะ เค้าก็จะบอกว่า อ๋อ เพิ่งยกเค้ามาตอนตีห้านี่เองครับพี่ ....ล้อเล่น คือถ้าประมาณวิทยุหรือพัดลมก็จะถามยี่ห้อ กับประเทศผลิต (กรณียี่ห้อนี้ไม่คุ้นหูในบ้านเรา) มีแตกหักอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่คนขายก็จะซื่อ ๆ นะคะ บอกว่าแตกตรงนั้น ร้าวตรงนี้ ความจริงถ้ามัน “ร้าว” นี่ เห็นง่ายกว่า “หัก” อีกนะคะ คือถ้าของชิ้นนั้นเราไม่ได้รู้จักหน้าค่าตามันมาก่อน เราอาจไม่รู้ว่ามันมีชิ้นส่วนไหนขาดหายไปหรือเปล่า ถ้าเค้าสามารถตกแต่งจนเนียนเราก็ไม่รู้หรอกค่ะ เพราะเราไม่ใช่เซียน แต่ถ้า “ร้าว”มันจะปรากฏหลักฐานให้เห็นกันชัดเจน
เคยถูกหลอกมั้ยเหรอ
เท่าที่ทบทวนดู ไม่เคยนะคะ
อีกอย่างคือใจเย็นค่ะ ศึกษาข้อมูลก่อน คือถ้าของถูกใจชิ้นนั้นเพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรก ก็จะดู ๆ จนพอจะรู้ราคา บางทีมันก็ทำให้เสียโอกาสในการได้ของถูกใจอยู่เหมือนกัน แต่ทำไงได้ ถ้าผลีผลามอาจเสียใจมากกว่า ความจริงเรื่องซื้อราคาเท่าไหร่มันก็อยู่ที่นิสัยของคนด้วยค่ะ บางคนเป็นคนที่ ถ้าชอบแล้ว เท่าไหร่ก็ซื้อ เค้าจะไม่คิดมากเรื่องราคา และเมื่อมาเจอของอย่างเดียวกันที่ถูกว่าเค้าก็ไม่คิดอะไร ชิลค่ะ คาดว่าพ่อแม่จะมีตัง ฐานะดี ไม่ซีเรียสเรื่องค่าใช้จ่าย แต่อีชั้นตรงกันข้ามค่ะ เวลาไปเจอของที่เหมือนกับที่เคยซื้อมาแล้ววางขายอยู่ที่ไหนเป็นต้องรี่เข้าไปถามว่า “เท่าไหร่คะ” คำตอบที่ได้บางทีก็ทำให้ลิงโลดดีใจ บางทีก็ทำให้เหี่ยวไปเหมือนกัน แต่เป็นคนที่กำหนดขอบเขตของราคาซื้อเอาไว้อยู่แล้ว การเจ็บตัวในของที่ซื้อจึงไม่มาก คือซื้อเยอะชิ้น แต่แต่ละชิ้นราคาไม่สูง ไม่ได้ซื้อราคาเป็นหมื่นเหมือนคนอื่น ๆ ซื้อแค่ไม่เกินหลักพัน เวลาที่เจ็บตัวก็เจ็บน้อยหน่อยค่ะ เท่าที่เจอแพงกว่าก็ไม่เกินสองสามร้อย (ต่อชิ้น) แต่โชคดี...ส่วนใหญ่ได้ราคาถูกกว่าหรือไม่ต่างกันค่ะ
เวลาที่ถามราคา แล้วในใจบอกมาว่า “อยากได้” ถ้าราคาที่บอกมามันห่างไกลกับขอบเขตราคาที่กำหนดไว้มาก มันก็ง่ายค่ะ ยิ้ม ขอบคุณแล้วเดินจากไป (ขอบเขตราคานี่อีชั้นกำหนดให้กับตัวเอง เพื่อไม่ให้ใช้จ่ายในเรื่องนี้มากเกินไปค่ะ) แต่ถ้าราคามันเกินไปก็จริง แต่อยากได้เหลือเกิน อันนี้ หนักใจ ในใจมันจะต่อสู้กันเองระหว่าง “ความอยาก” กับ “สัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง” ซึ่งกรณีนี้ ส่วนใหญ่ “ความอยาก” เป็นฝ่ายชนะค่ะ เพราะเราจะหาร้อยล้านเหตุผลมาอธิบายกับตัวเองว่า มันคุ้มค่าเพียงใดถ้าเราจ่ายเงินก้อนนี้ไป แล้วได้ของสิ่งนั้นมาเป็นของเรา....เฮ้อ..สามีระอา....
แรก ๆ ที่ไปเดินตลาดนัดของเก่า สังเกตุดูว่าคนขายไม่ค่อย Focus ที่เรามากนัก แต่เค้าก็ยิ้มแย้มทักทาย ถามตอบมีอัธยาศัยนะคะ อาจเป็นเพราะดูแล้วไม่น่าจะเป็นกลุ่มลูกค้า Prospect เพราะสถิติของลูกค้าร้านขายของเก่าส่วนใหญ่เป็นผู้ชายค่ะ ที่ไปเดิน ๆ ตลาดมานี่ น้อยมากที่ผู้หญิงจะเดินเข้าไปถามราคาของเก่าที่วางขาย คือตลาดนัดของเก่ามันไม่ได้มีของสะสมอย่างเดียวนะคะ มันก็มีของมือสองหลากหลาย เสื้อผ้ารองเท้ากระเป๋า ของกินของใช้ หนังสือ มีทุกอย่างเหมือนร้านขายของทั่วไปแหละค่ะ แต่มันเป็นของมือสอง ผู้หญิงที่มาตลาดนี้ก็จะเหมือนกันกับที่ไปตลาดอื่น ๆ คือ สนใจแต่ร้านขายของแต่งตัว มีอีชั้นนี่แหละค่ะดูแต่ของสะสม ซึ่งตอนนี้เวลาไปเดินสนามหลวง 2 พ่อค้าหลายร้านพอเห็นหน้าก็รู้ว่าชอบมาดูค่ะ ถ้าถูกใจของ ถูกใจราคา ก็พูดคุยต่อรองจ่ายเงินจ่ายทองกันไป เอาของกลับบ้าน แต่หลายครั้งที่ไปก็ไม่ได้ของกลับมาค่ะ
เคยเจอคนขายที่น่าเห็นใจด้วยค่ะ ตอนนั้นไปถามวิทยุเก่าแป็นแมคกาไลท์ ราคาไม่ถึงพัน สภาพโชว์อย่างเดียว ใช้งานไม่ได้ ตามประสาคนซื้อก็ต้องต่อราคากันตามธรรมเนียม (ต่อราคาลงไปร้อยเดียว) คนผู้ชายบอกว่าถูกแล้วลดไม่ได้แล้วครับ ตอนนั้นเป็นช่วงแรก ๆ ที่เริ่มซื้อของเก่า เราก็ยังไม่ทันว่าอะไร คิด ๆ พิจารณาอยู่ เอ่อ ข้างหลังมันบวม ๆ สภาพมันเอาไปตั้งโชว์จะเข้าท่ามั้ย มันเดิม หรือโมมา มีแตกมีร้าวตรงไหนบ้าง (คิดในใจ) ก็ได้ยินเสียงผู้หญิงแหวกอากาศขึ้นมาว่า ขายไปเถอะจะเอาไว้ทำมัย ก็เลยเหลือบไปมองหน้าผู้ชาย สงสารจังค่ะ มันคงไม่ได้เป็นเรื่องของราคาที่เค้าจะได้รับเพื่อแลกกับของที่เค้ารัก แต่คงเป็นความรู้สึกเสียดายที่ต้องเสียมันไปมากกว่า เดาว่าของที่เอามาขายคงเป็นของรักของเก็บของคนผู้ชาย แต่คนผู้หญิงเห็นว่าความจำเป็นและค่าใช้จ่ายในครอบครัวสำคัญกว่า น่าจะเอามาแปลงเป็นเงินเพื่อเป็นค่าครองชีพ
ทุกวันนี้ พอเห็นวิทยุเครื่องนี้ทีไร ก็ให้นึกถึงความสุขความเศร้าของคนคนนึงที่ต้องเสียของรักไป เศร้าจัง....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น