วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

ประสบการณ์การซื้อของเก่า


เคยอ่านเจอในเวปมีคนถามว่า การซื้อของเก่าใช้อะไรเป็นตัววัดว่าถูกหรือแพง ......

อืมมมม
  อันนี้ก็เจอกับตัวเองเหมือนกัน  ถ้าจะตอบ (แต่ไม่ได้ตอบ เพราะตอนนั้นประสบการณ์การซื้อของเก่ายังไม่มากพอ)  จริง ๆ จะบอกว่าไม่มีอะไรเป็นบรรทัดฐาน เพราะของพวกนี้ไม่มีราคากลางที่ชัดเจน อย่างที่รู้ ของเก่าแต่ละชิ้น ถึงแม้จะเป็นของรุ่นเดียวยุคเดียวกันก็จริง  แต่ "สภาพ" ของมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แทบจะบอกได้เลยว่าไม่มีชิ้นไหนที่มีสภาพที่ "เหมือนกัน" อย่างมากที่สุดก็แค่ "ใกล้เคียง" ดังนั้น การกำหนดราคาจึงใช้การเทียบเคียง โดยดูจากของชิ้นเดียวกันที่เค้าขาย ๆ กันอยู่ และเปรียบเทียบกับสภาพของของชิ้นนั้น

ที่นี้จะรู้ได้อย่างไรว่าเค้าขายกันเท่าไหร่
 จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ค่ะ คือเดินบ่อย เห็นบ่อย ถาม(ราคา)บ่อย  ข้อมูลเหล่านี้ก็จะอยู่ในสมอง เมื่อไปเจอของที่ต้องการ ระบบสมองส่วนกลางของเราก็จะทำการประมวลผลอย่างรวดเร็ว รวมกับความ "อยากได้" ซึ่งเกิดจากการรับภาพของจอประสาทตาส่งต่อการรับรู้เข้าสู่สมอง ผลลัพธ์ที่ได้คือ "ใจ" จะสั่งเราเองว่า ของสิ่งนั้น "ถูก" หรือ "แพง" ถ้าแพงก็สังเกตุได้ง่าย ๆ ว่าเราจะยิ้มแล้วเดินจากไป อาจมีลังเลอาลัยอาวรณ์ เหลียวหลังกลับไปดูบ้างแล้วแต่ลีลาของแต่ละคน  แต่ถ้าใจสั่งมาว่า "ถูก"  หรือ "อืมม ไม่แพงนะเนี่ย"  "หาอีกไม่ได้แล้ว" "ถ้าไม่ซื้อ อาจจะหาไม่ได้อีกเลย" "เคยเห็นที่อื่นแพงกว่านี้อีก" เหตุผลประมาณนี้ ก็จะทำให้เราลุ่มหลงมัวเมา หยิบเงินจากกระเป๋าส่งให้คนขายด้วยความยินดี  อิ่มเอม กลับบ้านได้ซะที หลังจากเดินหลังขดหลังแข็งมาครึ่งค่อนวัน ชักเริ่มปวดหลัง ปวดน่อง เดินต่อไม่ไหวซะหยั่งงั้น กลับบ้าน จะได้ไปชื่นชมกับของชิ้นใหม่ (ที่เป็นของเก่าของคนอื่น)

กลับมาก็มานั่งพินิจพิจารณาว่ามันแตกมันหักตรงไหน ชิ้นส่วนไหนหลุดหายไป ซึ่งบางทีก็ไม่รู้หรอก ถ้าไม่มีของชิ้นที่สมบูรณ์มาเทียบเคียง แล้วก็นั่งขัดนั่งถูทำความสะอาดไป ใช้น้ำ ใช้บัดโซ ใช้ัสเตคลีน แล้วแต่ความถนัด จากนั้นก็ต้องหาที่ตั้งที่เหมาะสม บางทีก็ไปวางตรงที่ใครเดินผ่านไปผ่านมาก็ต้องเห็น เผลอ ๆ ก็อาจหยิบเอาของชิ้นเก่าที่เคยวางไว้ออกไปวางซะทีอื่น เพื่อให้ของชิ้นนี้มีที่วางที่เหมาะสมกับฐานะ ไม่ค่อยจะเห่อซักเท่าไหร่เลย...

ดังนั้นเห็นของชิ้นไหนถูกใจครั้งแรกอาจเป็นข้อห้ามว่าอย่าซื้อทันที เพราะอาจโดนราคามหาโหดก็ได้
  คำแนะนำคือต้องสืบถามข้อมูลให้ชัดแจ้งก่อน ยกเว้นไอ้เจ้าราคาที่ว่ามันเป็นราคาที่คุณยอมรับได้จริง ๆ คือมีความรู้สึกว่ามันจิ๊บ จิ๊บ เช่น 100-200 หรือราคาเท่าไหร่ก็ได้ที่คุณคิดว่าจะไม่เสียดายเมื่อมาเห็นคนอื่นขายในราคาที่ถูกกว่า  แต่ข้อเสียของการที่คุณจะรอจนแน่ใจว่าราคาของชิ้นนั้นมันควรจะเป็นเท่าไหร่ก็คือคุณอาจได้เห็นของชิ้นนั้นเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตก็ได้  เพราะการได้พบของเก่าชิ้นที่ถูกใจไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณทุกวัน และ..ของชิ้นนั้นมันไม่ได้รอจนกว่าคุณจะแน่ใจและตัดสินใจซื้อ เมื่อคุณกลับมาอีกครั้งมันอาจไปอยู่ในความดูแลของคนอื่นแล้วก็ได้  ดังนั้น  บางครั้งเมื่อเราได้ไปเจอของเก่าที่ถูกใจ ก็อาจเป็นวาระที่ต้องวัดใจกันเลยว่า...จะซื้อหรือจะเดินจากไปด้วยท่าทางอาลัยอาวรณ์เหมือนอย่างที่บอกไว้ข้างต้น

วิธีแก้ไขกรณีที่คุณเจอสถานการณ์ "เสียดาย" เมื่อตัดสินใจเดินจากมาแล้วมาพบตัวเองว่า อยากได้มันมากกว่าขณะที่คุณยืนอยู่ต่อหน้ามันคือ "ทำใจ" ค่ะ
  และใช้วลีเด็ดมาปลอบประโลมตัวเองว่า "ถ้ามันเป็นของเรา วันนึงมันก็ต้องของเรา"  ซึ่งไม่จริงหรอกค่ะ เพราะเราเป็นคนตัดสินใจที่จะเดินจากมันมา และตอนนี้มันได้กลายเป็นของคนอื่นไปแล้วเพราะการตัดสินใจของเราเอง ดังนั้น "Forget it" ยังมีของเก่าอีกตั้งมากมายรอเราเป็นเจ้าของ "สมบัติผลัดกันชม" ค่ะ  

ที่เล่ามาอย่าคิดว่าเป็นคำบอกของเซียนซื้อของเก่าอะไรนะคะ เพียงแต่บอกเล่าวิธีการของการซื้อของเก่าของตัวเองให้ฟังขำ ๆ เท่านั้นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น